ศีล 5
ศีล 5 เป็นศีลของอุบาสก อุบาสิกา ในพระพุทธศาสนา เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของศีล 8 ดังนั้นอุบาสก อุบาสิกาจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องศีล 5 ให้ได้อย่างถูกต้องและลึกซึ้ง
เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มนุษย์จึงมีข้อตกลงระหว่างกัน ในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ข้อตกลงนั้นก็คือ มนุษยธรรม คือธรรมของมนุษย์ ได้แก่ ศีล 5 นั่นเอง ซึ่งประกอบด้วย
1. ตั้งใจงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (ปาณาติปาตา เวรมณี)
3. ตั้งใจงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี)
4. ตั้งใจงดเว้นจากการพูดเท็จ (มุสาวาทา เวรมณี)
5. ตั้งใจงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท (สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี)ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ศีล 5 ย่อมมีอยู่แล้วทุกยุคทุกสมัย เพราะมนุษย์เป็นผู้รู้จักใช้เหตุผล รู้จักยับยั้งชั่งใจ สิ่งนี้คือศักดิ์ศรีที่แท้จริงแห่งความเป็นมนุษย์
ศีล 8
ศีล 8 มีหัวข้อเหมือนศีล 5 แต่เปลี่ยนข้อ 3 และเพิ่มข้อ 6-7-8
ต่อไปนี้คือศีล 8 พร้อมด้วยองค์ประกอบที่จะทำให้ศีลขาด ถ้าองค์ประกอบไม่ครบก็ชื่อว่า ศีลทะลุ ไม่บริสุทธิ์1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 5 ประการ คือ
1.1 สัตว์นั้นมีชีวิต
1.2 รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
1.3 คิดจะฆ่าสัตว์นั้น
1.4 พยายามฆ่าสัตว์นั้น
1.5 สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
2.เว้นจากการลักทรัพย์ ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 5 ประการ คือ
2.1 ทรัพย์มีเจ้าของ
2.2 รู้ว่าทรัพย์นั้นมีเจ้าของ
2.3 คิดจะลักทรัพย์นั้น
2.4 พยายามลักทรัพย์นั้น
2.5 ได้ทรัพย์มาด้วยความพยายามนั้น
3. เว้นจากการกระทำที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 3 ประการ คือ
3.1 มีสิ่งที่พึงล่วงละเมิด
3.2 พยายามเข้าถึง
3.3 ยินดี
4. เว้นจากการพูดมุสา ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 5 ประการ คือ
4.1 เรื่องเท็จ
4.2 มีเจตนาจะพูดเท็จ
4.3 พยายามจะพูดเท็จ
4.4 พูดเท็จต่อคนอื่น
4.5 เขารู้เรื่องเท็จ
5. เว้นจากการดื่มน้ำเมา ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 4 ประการคือ
5.1 มีของมึนเมา มีสุรา เป็นต้น
5.2 จิตคิดอยากจะดื่มของมึนเมานั้น
5.3 พยายามจะดื่ม
5.4 ดื่มเข้าไปในลำคอ
6. เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 4 ประการ คือ
6.1 เวลาวิกาล (หลังเที่ยงไปแล้วจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่)
6.2 เป็นของที่อนุญาตให้กินได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง
6.3 กลืนกินของนั้น
6.4 บุคคลมิได้เป็นบ้า
7 (ก) เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่การกุศล ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 3 ประการ คือ
7.1.1 มีการฟ้อนรำ ขับร้อง
7.1.2 มีเจตนาไปดูหรือฟัง
7.1.3 ดูหรือฟัง
(ข) เว้นจากการลูบไล้ ทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 3 ประการ คือ
7.2.1 มีดอกไม้และของหอม
7.2.2 และไม่มีเหตุเจ็บไข้ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้ได้
7.2.3 ลูบไล้ทัดทรงตกแต่งด้วยจิตคิดจะประดับให้สวยงาม
8. เว้นจากการนอนที่นอนอันสูงใหญ่ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี ศีลจะขาดต่อเมื่อมีองค์ประกอบครบ 3 ประการ คือ
8.1 ที่นั่งนอนสูงใหญ่
8.2 รู้ว่าที่นั่งนอนนั้นสูงใหญ่
8.3 นั่งหรือนอนลง
อุโบสถศีล
อโบสถศีล คือ ศีล 8 ที่ อุบาสก อุบาสิกา รักษากันในวันพระนั่นเอง
ส่งท้ายเรื่องศีล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนพุทธสาวกทั้งหลายไว้ในโอวาทปาติโมกข์ว่า ให้ละชั่ว ทำดี และทำใจให้ผ่องใส อันดับแรกต้องละชั่วให้ได้ก่อน เพราะตราบใดที่ยังทำชั่ว ก็คือยังไม่ได้ทำดี จิตใจย่อมเศร้าหมองไม่ผ่องใส การรักษาศีลเป็นเรื่องของการละชั่วทั้งกายและวาจา นั่นคือ เมื่อคนเราตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว ย่อมจะหันมาทำความดีได้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันความดีทุกอย่างที่เราทำย่อมสนับสนุนให้จิตใจของเราผ่องใสในขณะทำสมาธิภาวนา ปัญญาอันเกิดจากจิตใจที่ผ่องใสขณะทำสมาธิภาวนา ก็จะย้อนกลับมาส่งเสริมให้เราทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เป็นวงจรที่หมุนไปรอบแล้วรอบเล่าอย่างไม่รู้จบ พร้อมกันนั้น ความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมก็จะทวีขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนรอบของ ศีล สมาธิ และปัญญา
นี่คือเส้นทางแห่งการบรรลุธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายที่มีตถาคตโพธิสัทธาแล้ว ย่อมไม่ลังเลที่จะพากเพียรดำเนินตามเส้นทางนี้อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
คัดลอกและดัดแปลงจากหนังสือ "อุบาสิกาแก้ว ยอดหญิงผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลก" ฉบับเป็นสุขด้วยธรรม ของมูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อศีลธรรม : เมษายน 2553